สสส.ชวนคนสภา “กินเจ-ลดเค็ม” ได้สุขภาพดีและได้บุญด้วย

ที่รัฐสภา วันที่ 22 ก.ย.65 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมจัดกิจกรรมสื่อสารรณรงค์ “กินเจ ลดเค็ม : สุขภาพดี ได้บุญ” เนื่องในเทศกาลกินเจ ประจำปี 2565 เพื่อรณรงค์ให้สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการ บุคลากรของรัฐสภา และสื่อมวลชน โดยชวนเชิญลดการกินเค็มในทุกเมนูเจเพื่อสุขภาพที่ดีตลอดช่วงเทศกาลกินเจระหว่างวันที่ 25 ก.ย.- 4 ต.ค.65 โดยภายในงานจัดบอร์ดนิทรรศการให้ความรู้เรื่องผลกระทบจากการได้รับโซเดียมในปริมาณมากเกินไป พร้อมแจกชุดความรู้การรับประทานอาหารให้ได้สารอาหารครบถ้วน เช่น การกินผักและผลไม้ 5 สี , เคล็ดลับลดกินหวาน , กลุ่มโรค NCDs โรคที่คุณสร้างเอง ฯลฯ

ทั้งนี้การจัดกิจกรรมสื่อสารรณรงค์ “กินเจ ลดเค็ม : สุขภาพดี ได้บุญ” เพื่อป้องกันปัญหาการกินเค็มที่มากเกินไปจะส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจหนา เกิดการสะสมของพังผืดในกล้ามเนื้อหัวใจ ไต และหลอดเลือด อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต โดยจากข้อมูลผลสำรวจปริมาณการบริโภคเกลือโซเดียมของคนไทยในปี 2563 พบว่า มีอัตราการบริโภคเฉลี่ย 3,636 มก./วัน ซึ่งเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำเกือบ 2 เท่า โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข WHO และภาคีเครือข่าย ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ลดการบริโภคเกลือโซเดียม” ในประเทศไทย มุ่งเป้าปรับลดพฤติกรรมการบริโภคโซเดียมของคนไทยลง 30 % ภายในปี 2568 หรือบริโภคไม่เกิน 700-800 มก./มื้ออาหาร เพื่อช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลงได้ถึง 20 % รวมทั้งยังช่วยลดอัตราการตายจากโรคดังกล่าวได้ 5-7 %

การรณรงค์ขับเคลื่อนสังคมลดการบริโภคเค็ม โดย สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่าย ร่วมมือพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ จัดสภาพแวดล้อมด้านอาหารเพื่อสุขภาวะที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น 1. ผลักดันให้เกิดมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรค NCDs 2.สนับสนุนการจัดทำยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในไทย ปี 2559-2568 3.พัฒนาสารทดแทนความเค็ม 4.พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์อาหารลดโซเดียม 5.นวัตกรรมเครื่องตรวจวัดความเค็มในอาหาร (CHEM Meter) 6.ระบบฐานข้อมูลโซเดียมในวัตถุดิบอาหาร-เครื่องปรุงรสในอาหารประจำภูมิภาคและอาหารแปรรูป 7.ขับเคลื่อนมาตรการภาษีโซเดียม เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงสูตรลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร 8.สื่อสารรณรงค์แคมเปญลดเค็ม ลดโรค และลดเค็ม ครึ่งหนึ่ง คนไทยห่างไกลโรค ทำให้ประชาชนเกิดความรู้ ความเข้าใจในวงกว้าง

ขณะที่ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ระบุว่า ประชากรทั่วโลกจำนวนกว่า 3 ล้านคน เสียชีวิตจากการบริโภคโซเดียมที่มากเกินจำเป็น ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3,600-4,800 มก./วัน WHO จึงได้ประกาศเป้าหมายลดการบริโภคโซเดียมทั่วโลกลงให้ได้ 30 % ภายในปี 2568 พร้อมทั้งแนะนำให้ประชากรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,300 มก./วัน โดยเสนอมาตรการ “ลดการบริโภคเกลือโซเดียม” สำหรับผู้ประกอบการในไทย 4 ข้อ ที่จะช่วยลดบริโภคโซเดียมอย่างมีประสิทธิภาพ 1.ต้องปรับสูตรอาหาร กำหนดและตั้งเป้าหมายการลดปริมาณโซเดียมแบบบังคับ พร้อมพัฒนาเมนูลดโซเดียมในร้านอาหารและใช้มาตรการทางการเงินจากภาครัฐ 2.นโยบายการจัดซื้ออาหารโซเดียมต่ำในองค์กร 3.ติดฉลากคำเตือนหน้าบรรจุภัณฑ์ ระบุปริมาณโซเดียมโดยสัญลักษณ์สี และ 4.สื่อสารรณรงค์เพื่อลดการบริโภคโซเดียม